top of page

ป่า คน เมือง พื้นที่สีเขียวในดงปูน


"ไม่มีคน ป่าอยู่ได้ ไม่มีป่า คนอยู่ไม่ได้" คำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์เรา การผันเปลี่ยนของฤดูกาลแบบไม่ปกติ ภัยธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สภาวะเรือนกระจก และปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่โลกเรากำลังเผชิญ ต้นเหตุใหญ่ล้วนมีต้นตอมาจากมนุษย์ ปัจจุบันมนุษย์ผู้ทำลายได้เริ่มตระหนัก และพยายามหาวิธีแก้ด้วยวิธีเบสิก นั่นคือการคืนวิถีเดิมให้กับธรรมชาติ หนึ่งในนั้นคือ การปลูกป่าเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว เพราะ "ป่า" ไม่เพียงเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิต แต่ "ป่า" ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของมวลมนุษย์อีกด้วย

ถ้าจะพูดถึง "ป่าในมหานคร" อย่างกรุงเทพฯ คงดูจะเป็นเรื่องเกินจริงไปเสียหน่อย แต่หากให้เทียบเคียงพื้นที่สีเขียวในกรุงที่ดูจะใกล้เคียง "ป่า" มากที่สุดคงหนีไม่พ้น "สวนสาธารณะ"

การเกิดขึ้นของสวนสาธารณะ แท้จริงแล้วควรเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งวางผังเมือง มีเมืองต้องมีสวน เพื่อให้ผู้คนทุกกลุ่มได้มีพื้นที่ประกอบกิจกรรมอเนกประสงค์ตามสิทธิของพลเมือง แต่เมื่อประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้ดูแลเรื่องดังกล่าวจึงต้องขัดตาทัพด้วยการหาพื้นที่มาสร้างสวนสาธารณะให้เพียงพอต่อปริมาณประชากรที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ

แต่การหาพื้นที่สีเขียวยากเต็มทีในยุคทุนนิยม ที่มีเม็ดเงินเป็นที่ตั้ง การขยายปอดให้คนกรุงจึงไม่ใช่เรื่องที่จะมีใครมาลงทุนกับลมหายใจของคนเมืองที่ไม่ได้สร้างกำไรเป็นตัวเงิน

ดังนั้นการเกิดขึ้นใหม่ของพื้นที่สีเขียวจึงทำได้เพียงแต่รอ รอผู้ใจบุญมาบริจาคที่ดินเพื่อสร้างป่าให้คนเมือง เพื่อที่ว่าพื้นที่ทุกตารางนิ้วในเมืองกรุงจะไม่กลายเป็นป่าปูนไปเสียทั้งหมด

ความหวังจึงฝากไว้ที่หัวเรือใหญ่"ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" (หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร) ได้กำหนดนโยบายในการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายอยู่ที่ 5,000 ไร่ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ ในช่วงปลายปีนี้ จนถึงปี พ.ศ. 2560 ยังจะมีสวนสาธารณะเกิดขึ้นใหม่อีกนับสิบแห่ง ทั้งในเขตใจกลางเมือง อย่างสวนปทุมวนานุรักษ์ บริเวณใกล้เคียงกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หรือโซนชานเมือง แถบลาดกระบัง, มีนบุรี, บางแค, บางบอน ฯลฯ 2,000 ไร่ ภายใน 2 ปี

จะเป็นเรื่องไกลเกินจริงหรือเรื่องจริงก็ต้องมานับถอยหลังกันดู

"สุวพร เจิมรังษี" ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) สะท้อนปัญหาใหญ่ในการเพิ่มสวนสาธารณะว่า ประเทศไทยไม่ได้ถูกออกแบบให้สวนสาธารณะเกิดขึ้นพร้อมกับเมืองมาตั้งแต่ต้น รวมถึงการขอใช้พื้นที่สร้างสวนสาธารณะกับหน่วยราชการอื่น ๆ ไปแล้ว วิธีที่ทำได้อีกทางหนึ่งคือ การรอรับบริจาค

"เป็นเรื่องดีที่คนจำนวนหนึ่งยินดีบริจาคที่ดินเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชนแต่บางครั้งพื้นที่ดังกล่าวก็อาจมีอุปสรรคต่อการใช้งาน อาทิ ขนาด หรือการเดินทางที่อาจจะค่อนข้างยากลำบาก แต่อย่างไรก็ตาม กทม.ก็ยินดีที่จะปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวให้มากยิ่งขึ้น"

ส่วนบริเวณบึงมักกะสันซึ่งเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ของทางการรถไฟฯนั้น ยังไม่ได้มีการหารือกันระหว่าง กทม.และการรถไฟฯเจ้าของพื้นที่ แต่กระแสเรียกร้องที่เกิดขึ้น เป็นการนำเสนอจากประชาชนที่เห็นถึงความสวยงาม ความร่มรื่นของพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น ข้อสรุปยังเป็นเรื่องอนาคต เพราะต้องศึกษาองค์ประกอบอีกหลายประการ

"เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน วิถีผู้คนก็เปลี่ยน ในอดีตคนใช้สวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ แต่ในปัจจุบันกว่า 70% ใช้พื้นที่สวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกาย ทำให้มีผู้คนทุกกลุ่มเข้ามาใช้บริการสวนสาธารณะมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่าตัว

ดังนั้นการปรับปรุงสวนสาธารณะแต่ละครั้งต้องดูถึงความเหมาะสมต่อสภาพการใช้งานของผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ ด้วย เช่น ปัจจุบันเลนจักรยานถือเป็นเรื่องสำคัญ และควรมีอาณาบริเวณที่ชัดเจน มีป้ายหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น แต่ต้องคงความเป็นธรรมชาติของสวนสาธารณะไว้อย่างสูงสุด" ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมอธิบายถึงแผนการปรับปรุงพื้นที่สวนสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯยังถือเป็นเมืองหลวงที่มีพื้นที่สีเขียวให้สูดหายใจได้เต็มปอด แม้มีไม่มาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลยดูจากสถิติของสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะในเมืองกรุงที่มีคนเข้าไปใช้บริการมากที่สุด 5 อันดับแรกหลายพันคนต่อวัน

สวนวชิรเบญจทัศ

สวนยอดนิยมที่สุดของคนกรุงเทพฯ ซึ่งมีชื่อเรียกที่คุ้นปากว่า "สวนรถไฟ" เนื่องจากในอดีตเคยเป็นสนามกอล์ฟรถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปัจจุบันมีผู้เข้าไปใช้บริการเฉลี่ยกว่าหมื่นคนต่อวัน ยิ่งเมื่อเทรนด์จักรยานเข้ามา สวนรถไฟยิ่งมีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น เนื่องจากมีเลนจักรยานโดยเฉพาะ มีศูนย์การเรียนรู้อย่างอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ศูนย์สำหรับเยาวชนอย่างสวนนันทนาการชุมชน ค่ายพักแรม เมืองจราจรจำลอง รวมถึงศูนย์กีฬาตั้งอยู่ในนี้ และยังเป็นที่ตั้งของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับธรรมะ โดยสร้างตามดำริของท่านพุทธทาส อินทปัญโญ

สวนลุมพินี

สวนใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร สร้างจากพระราชมรดกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้แก่ชาวพระนคร ด้วยแนวคิดของสวนที่มีลักษณะเป็นสวนอเนกประสงค์ ทำให้ที่นี่มักมีกิจกรรมนันทนาการอยู่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการจัดธรรมะในสวนหรือดนตรีในสวน จุดเด่นที่สำคัญอีกหนึ่งประการคือที่นี่ถูกออกแบบให้รองรับกับกิจกรรมของเด็ก เยาวชน คนชรา และคนพิการด้วย อาทิ ในส่วนของลานตะวันยิ้ม ที่ปูทางลาดแทนขั้นบันได สนามเด็กเล่นชนิดพิเศษ ที่จอดรถคนพิการ และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนด้อยโอกาสครบครัน สโมสรพลเมืองอาวุโสซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอาชีพของผู้สูงอายุ และศูนย์สร้างโอกาสเด็กสวนลุมพินี ให้บริการแนะนำ ปรึกษา ช่วยเหลือ สอนหนังสือแก่เด็กเร่ร่อน เป็นต้น

สวนจตุจักร

สวนสาธารณะที่เกิดขึ้นเพื่อการรองรับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าว ให้มีพื้นที่พักผ่อน เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของรถขนส่งมวลชน ทั้งของชาวกรุงและชาวต่างจังหวัดที่เข้าสู่มหานคร ภายในสวนจตุจักรนี้ ยังมีสวนไม้ในวรรณคดี สวนสมุนไพร และยังเป็นที่ตั้งของ "สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา พลตรีหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ด้วย

อีกจุดที่น่าสนใจในสวนจตุจักรคือ พิพิธภัณฑ์รถไฟ ในอาคารหอเกียรติภูมิรถไฟเป็นหนึ่งในกิจกรรมของอุทยานการเรียนรู้จตุจักรนั่นเอง

สวนหลวง ร.9

สวนสาธารณะขนาดใหญ่ระดับ 500 ไร่ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ร่วมกันบริจาคที่ดินเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในศุภมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ

นอกจากพันธุ์ไม้นานาชนิดที่ถูกรวบรวมไว้ในสวนพฤกษศาสตร์และอาคารพรรณไม้ในร่มแล้ว ที่นี่ยังมีอาคารพันธุ์ไม้ทะเลทราย (จิโอเดสิกโดม) และภายนอกอาคารเป็นที่รวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย และไม้อวบน้ำต่าง ๆ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า ไม้จำพวกกระบองเพชรมาจัดแสดงอยู่ด้วย ที่สำคัญสวนสาธารณะแห่งนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณเมืองชั้นใน เนื่องจากมีตระพังแก้วเก็บน้ำ เนื้อที่ขนาด 40 ไร่ตั้งอยู่ด้วย

สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

หากกล่าวว่าที่นี่เป็นอุทยานการเรียนรู้ในด้านพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศคงไม่ผิดนักเพราะภายในสวนสาธารณะแห่งนี้ได้รวบรวมพันธุ์ไม้หายากและหลากหลาย พร้อมจัดจำแนกเป็นหมวดหมู่ในรูปเส้นทางชมธรรมชาติให้สะดวกต่อการทำความเข้าใจได้โดยง่าย อาทิ สวนกล้วยกว่า 70 ชนิด, ลานลั่นทม, ลานเข็ม, ลานชบา, ลานบัว, ย่านดาโอ๊ะ หรือต้นเถาใบสีทอง พืชชนิดใหม่ของโลก พบได้เฉพาะน้ำตกบาโจ ในอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส, ย่านลิเภา ไม้เถาซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับศิลปหัตถกรรมอันเลื่องชื่อของไทย เป็นต้น

สำหรับผู้พิการทางสายตา ก็สามารถเรียนรู้และสัมผัสพืชพรรณไม้หอมได้อย่างใกล้ชิด ใน "สวนพระมหากรุณาธิคุณเพื่อผู้พิการทางสายตา" ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของสวนสาธารณะแห่งนี้เช่นกัน

แต่ละสวนที่ติดอันดับท็อป 5 นั้นล้วนแต่มีคนไปใช้บริการเป็นจำนวนมากและหนาแน่นมากทีเดียว หากใครที่เคยไปในช่วงวันหยุดคงจะทราบดี ว่าสวนสาธารณะสุดฮิตนั่นไม่เพียงพอ

ในส่วนภาคเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและมองเห็นเทรนด์การรักสุขภาพ เช่น ห้างสรรพสินค้าต่างก็พยายามจัดสรรพื้นที่สีเขียวเพื่อดึงดูดลูกค้า กลายเป็นจุดขายได้อย่างน่าสนใจ

สวนลอยฟ้า

ถึงไม่ใช่ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกแบบสวนลอยบาบิโลน แต่ความอลังการของ ควอเทียร์ วอเตอร์ การ์เด้น (Quartier Water Garden) บนชั้น 5 ของอาคารเดอะ ฮีลิกส์ แห่งดิ เอ็มควอเทียร์ ที่มีขนาดกว่า 3,000 ตารางเมตร อันประกอบไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ดอก และไม้ประดับมากมาย ก็เปรียบเสมือนโอเอซิสของคนกรุงแล้ว

ดิ เอ็มควอเทียร์ ยังได้แขวนแชนเดอเลียร์ต้นไม้ความยาวกว่า 100 เมตร ซึ่งถูกออกแบบโดยแพทริก บลังก์นักพฤกษศาสตร์ชื่อดังระดับโลกชาวฝรั่งเศสไว้กลางศูนย์การค้า และยังปันอาณาบริเวณส่วนหนึ่งไว้เป็นเดอะ ควอเทียร์ วอเตอร์ฟอล น้ำตกที่มีความสูงกว่า 40 เมตรเป็นแห่งแรกในเอเชีย ทั้งหมดนี้ทำให้ดิ เอ็มควอเทียร์มีพื้นที่สีเขียวมากถึงร้อยละ 30 ของศูนย์การค้าเลยทีเดียว

สตูดิโอ โก กรีน

"ไม้ยืนต้น" สตูดิโอน้องใหม่ ที่ตั้งอยู่บนถนนกรุงเทพกรีฑา ที่นำความเขียวขจีจากพรรณไม้มาเป็นส่วนหนึ่งของสตูดิโอด้วยการลงดินปลูกไม้เข้าไปลดความกระด้างจากอาคารสไตล์ลอฟต์และยังได้รับอานิสงส์จากความร่มรื่นของผืนหญ้าสนามกอล์ฟซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกัน

นอกจากนี้ "ไม้ยืนต้น สตูดิโอ" ยังใช้ระบบแอร์รุ่นพิเศษ แบบรวมศูนย์ชนิดระบายความร้อนด้วยน้ำ (Central WaterCooled Air Conditioning System) ที่ควบคุมได้แบบแยกโซน เน้นการประหยัดพลังงานได้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 46% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ของผู้ที่มาใช้บริการสตูดิโอด้วย

สวนสาธารณะเองที่เคยถูกมองข้ามว่าเป็นพื้นที่ว่างค่อนไปทางไม่มีมูลค่า กลับกันในวันนี้ที่ชาวเมืองต่างโหยหาพื้นที่สีเขียวในป่าปูน มีการรณรงค์และอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรมกว่าในอดีต ก็ได้แต่หวังว่าการตื่นตัวครั้งนี้จะไม่เป็นเพียงลมที่พัดผ่านมา...และผ่านไป


Featured Posts
Check back soon
Once posts are published, you’ll see them here.
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page